Thursday, March 10, 2011

อุดมการณ์พระโพธิสัตว์

พระพุทธศาสนามีนิกายหลักอยู่ 2 นิกาย คือ “เถรวาท” ได้แก่นิกายที่ยอมรับมติของพระเถระในสังคายนาครั้งที่ 1 ภายหลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน โดยทั่วไปจะเรียกนิกายนี้ว่า “พระพุทธศาสนายุคแรก” (Early Buddhism) ส่วนอีกนิกายหนึ่งคือ นิกาย “มหายาน” ที่พัฒนามาจากพระภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 โดยทั่วไปจะเรียกนิกายนี้ว่า “พระพุทธศาสนายุคหลัง (Later Buddhism)
แม้ว่าจะต่างนิกาย แต่คำสอนหลักของพระพุทธศาสนาทั้ง 2 นิกาย ไม่ว่าจะเป็นอริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ไตรสิกขา ไตรลักษณ์ และหลักกรรม เป็นต้น ล้วนเป็นคำสอนเดียวกัน แต่การอธิบายของมหายานอาจแตกต่างออกไปในบางแง่มุม ทั้งนี้เพราะความเข้าใจแตกต่างกันและด้วยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในภายหลัง และที่สำคัญคือมหายานได้ให้ความสำคัญต่ออุดมการณ์พระโพธิสัตว์

มหายานกับอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
คำสอนเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนายุคแรก เรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีตครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ปรากฏในคัมภีร์ชาดกแห่งขุททกนิกาย แต่ละพระชาติที่ทรงบังเกิดก็เพื่อทรงบำเพ็ญบารมีธรรมให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ซึ่งก็ได้แก่พระโคดมพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน
ขณะที่นิกายเถรวาทเห็นว่า พุทธศาสนิกชนที่ดีคือผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและไม่ต่อเติมเสริมแต่งสิ่งที่ไม่ได้ทรงสอนไว้ แต่มหายานเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงฉลาดในอุบาย (อุปายเกาศัลยา) ทรงใช้วิธีการหลากหลายเพื่อขนสรรพสัตว์จากสังสารวัฏ ฉะนั้น จึงมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติและคำสอนบางประการของพระพุทธเจ้าให้เหมาะกับเวลาและสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีของนักประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
สาเหตุที่มหายานเน้นอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ก็ด้วยเหตุผลหลายประการคือ
1. มาจากบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า เพราะก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทุกภูมิที่เสวยพระชาติ (เกิด) จะทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ซึ่งจะช่วยเหลือสัตว์โลกได้มากกว่า ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด สำหรับผู้ที่ปรารถนาเช่นนี้ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ทุกคนจึงตั้งความปรารถนาได้และทำได้ง่ายกว่าการได้บังเกิดเป็นสาวกพระพุทธเจ้า ซึ่งจะสมปรารถนาก็ต่อเมื่อพระพุทธเจ้ามาบังเกิดเท่านั้น ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยากอย่างยิ่ง
2. มาจากกุศลจิตอันแรงกล้าของบรรดาพระธรรมทูตที่ต้องการให้พระพุทธศาสนาเข้าถึงจิตใจของคนต่างถิ่นในบริบทของสังคมที่แตกต่างออกไป จึงนำเสนอสิ่งที่เห็นว่าประชาชนจะยอมรับได้ง่าย ขณะที่ยังคงหลักการจริง ๆ ของพระพุทธศาสนาเอาไว้
3. มาจากอิทธิพลของศาสนาฮินดูนิกายภาควัต ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ที่เน้นการอวตารและความภักดีต่อพระวิษณุ ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาอย่างทรงพลังยิ่งต่อคนระดับล่างมากกว่าการเน้นปัญญาและความหลุดพ้นส่วนตัวของพระพุทธศาสนายุคแรก อุดมการณ์พระโพธิสัตว์จึงเหมาะสมต่อคนระดับล่าง และสามารถแข่งขันกับศาสนาฮินดูนิกายภาควัตได้เป็นอย่างดี
ทายัล ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปรับตัวของพระพุทธศาสนาตอนต้นคริสต์ศตวรรษไว้ดังนี้
ชาวพุทธผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้ช่วยต่อลมหายใจให้พระพุทธศาสนาในสภาพเรือแตกกลางทะเลเอาไว้ได้ ด้วยการเผยแพร่คำสอนมหายานซึ่งเน้นอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณาเคียงข้างไปกับการบูชาเทพเจ้า และคำสอนเรื่องการอวตารของศาสนาฮินดู (Dayal, 1932 : 38)

ปรัชญาปารมิตา : อภิปรัชญาของมหายาน
หากจะกล่าวว่าจริยศาสตร์ มีรากฐานจากอภิปรัชญาแล้ว พุทธจริยศาสตร์ของมหายานไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ หลักโพธิจิต และหลักมหากรุณา เป็นต้น ล้วนมีรากฐานจากปรัชญาปารมิตาสูตร มหายานถือว่า พระสูตรนี้สำคัญและศักดิ์สิทธิ์มาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่มหายานโดยเฉพาะ ท่ามกลางชุมนุมของเหล่าพระโพธิสัตว์ที่ภูเขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ สาระสำคัญของพระสูตรกล่าวถึงความศูนย์ของเบญจขันธ์ คำว่า “ศูนย์” ไม่ได้หมายถึงความขาดสูญซึ่งเป็นอุจเฉททิฏฐิ แต่หมายเอาการไม่มีตัวตนของเบญจขันธ์ซึ่งเป็นสิ่งปรุงแต่ง แต่ที่เราเข้าใจว่ามีตัวตน เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง กล่าวโดยสรุป ปรัชญาปารมิตาสูตรก็คือ การอธิบายอนัตตา และปฏิจจสมุปบาทในอีกแนวหนึ่งนั่นเอง
สาระสำคัญทางจริยธรรมของปรัชญาปารมิตาก็คือ ในสภาพศูนยตา จะไม่มีความเห็นแก่ตัวหลงเหลืออยู่ เป็นความเต็มบริบูรณ์ด้วยปัญญา (ปรัชญาปารมิตา )ซึ่งเป็นการบรรลุทางจิตก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในภาวะเช่นนี้ ความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่นไม่มีหลงเหลืออีกต่อไป จะมีก็แต่ความเมตตาสงสารในสัตว์ทั้งหลาย เพราะมีความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ตถตา) ว่าอยู่ในสภาพศูนยตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาใด ๆ อีก ดังที่ โจชิ สรุปไว้ดังนี้
ดังนั้น ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ตรรกะแห่งคำสอนเรื่องปรัชญาปารมิตานี้ ได้นำไปสู่ความกรุณาและมุทิตาในสัตว์ทั้งหลาย เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาหลงเหลืออยู่ เมื่อสัตว์ทั้งหลายต่างมีพุทธภาวะ และเมื่อสัตว์ทั้งหลายต่างรักสุข เกลียดทุกข์ ต้องการอิสรภาพและความสงบสุข สัตว์ทั้งหลายจึงต้องสร้างความรักแบบพระโพธิสัตว์ให้มีในตน จะมีเหตุผลใดอีกที่จะมีตัวตนที่เห็นแก่ตัวหลงเหลืออยู่ ความสมบูรณ์ทางจริยธรรมจะบังเกิดขึ้นได้ ก็โดยอาศัยหลักปรัชญาปารมิตานี้ (Joshi, 1987 : 96)
จากคำอธิบายปรัชญาปารมิตาดังกล่าว จะพบจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันเป็นที่มาของข้อแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายานคือ หลังจากรู้จักความเป็นจริงของเบญจขันธ์แล้ว เถรวาทจะมุ่งไปที่การทำลายอหังการและมมังการ (ความรู้สึกว่าเป็นเรา และของเรา) ในตนเองเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นจึงคิดช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน แต่มหายานกลับมองไปที่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (ภาวะที่เหมือนกัน) ระหว่างตนกับผู้อื่นและ (ในฐานะของผู้เข้าใจความจริง) คิดช่วยเหลือผู้อื่น ในทันที นี้คือข้อแตกต่างระหว่างการมุ่งเพื่อความหลุดพ้นส่วนตนของเถรวาทและความหลุดพ้นของมหาชนหรือการเป็นพระโพธิสัตว์ในทัศนะของมหายาน

พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในมหายาน
เพื่อความเข้าใจพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ของมหายานได้ดี จะขออธิบายเปรียบเทียบกับทัศนะของเถรวาท ดังนี้
1. แม้ว่าพระนิพพานจะเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนาทุกนิกาย แต่ก่อนจะถึงนิพพาน มหายานได้เพิ่มอุดมการณ์อีกแบบหนึ่งเข้ามาคือ อุดมการณ์พระโพธิสัตว์ แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ของมหายานที่แตกต่างจากรายละเอียดตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้นจากนิกายมหาสังฆิกะ ที่ไม่เห็นด้วยกับมติสังคายนาครั้งที่ 2 ของพระมหาเถระฝ่ายเถรวาท มหายานได้นำมาพัฒนาต่อ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่มีฐานะเป็นมนุษย์ได้เปลี่ยนไปเป็นเทพที่ควรแก่การสวดมนต์ขอพรเพื่อปลดเปลื้องทุกข์โศกในชีวิต เถรวาทและมหายานยุคแรกมีความเห็นสอดคล้องกันว่า พระพุทธเจ้าทรงมี 2 พระกาย คือ รูปกาย (ภายหลังเรียกว่านิรมานกาย) หรือกายเนื้อในรูปเบญจขันธ์ที่เติบโต ทรุดโทรม และดับขันธ์ไปตามกาลเวลา และธรรมกาย หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นกฎธรรมชาติ ต่อมาภายหลังมหายานนิกายวิชญาณวาทิน กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมี 3 พระกาย โดยเพิ่มพระกายที่ 3 คือ สัมโภคกาย หรือกายทิพย์เข้ามา พระกายที่ 3 นี้อยู่ระหว่าง รูปกาย และธรรมกาย และเป็นการปูทางไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ของมหายาน
2. เถรวาทถือว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ การตรัสรู้ของพระองค์มาจากความเพียรพยายามของมนุษย์คนหนึ่ง อาศัยพระมหากรุณาคุณจึงได้ทรงนำธรรมที่ตรัสรู้มาสั่งสอนเวไนยสัตว์ ส่วนมหายานเห็นว่าพระพุทธเจ้า พระองค์จริงคืออาทิพุทธ เป็นภาวะนิรันดร์ ไม่เคยประสูติ สถิตในสรวงสวรรค์ชั้นอกนิษฐภูวนา ทรงมีอยู่ และดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง พระโคดมพุทธเจ้าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เป็นการสำแดงออกมาเป็นรูปกายของพระพุทธเจ้าพระองค์จริง สัทธรรมปุณฑริกสูตรได้กล่าวว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามีนับจำนวนครั้งไม่ได้ พระชนม์ชีพของพระองค์ไม่อาจกำหนดได้ ทรงถือกำเนิดด้วยพระองค์เอง และประทับที่ภูเขาคิชกูฏ (สัทธรรมปุณฑริกสูตร, 2537 : 249) ส่วน เถรวาทเชื่อแต่เพียงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกแล้วมากกว่าหนึ่งพระองค์ แต่มหายานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน มากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรเสียอีก หากมองอย่างพิเคราะห์แล้ว พระพุทธเจ้าของมหายานละม้ายคล้ายคลึงกับพระวิษณุในศาสนาฮินดูและคำสอนเกี่ยวกับการอวตารของพระองค์ในภควัทคีตา พระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์จึงได้กลายเป็นจอมเทพ (เทวาธิเทพ) ผู้คอยช่วยเหลือสัตว์โลกในพระพุทธศาสนามหายาน การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์เป็นที่นิยมของศาสนิกมากกว่าการใช้เหตุผลและการใช้ความเพียรพยายามเพื่อหาทางออกจากปัญหาให้กับตนเอง
3. ในเถรวาท พระโพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่ในมหายานได้พัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ ศาสนิกทุกคนควรตั้งโพธิจิต เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อุดมคติพระโพธิสัตว์ในฐานะระบบจริยธรรม ที่เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต ซึ่งปัจเจกชนสามารถดับทุกข์ได้ด้วยความเพียรของตนเอง ถูกแทนที่ด้วยระบบจริยธรรมที่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอกช่วยเหลือให้พ้นทุกข์แทน นอกจากนั้น มหายานยังเห็นต่อไปอีกว่า พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแก่กล้า สมควรที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้แล้ว อาจจะไม่ยอมตรัสรู้และยินดีเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อช่วยขนสรรพสัตว์จากกองทุกข์ในวัฏฏสงสารต่อไป สรรพสัตว์ทั้งปวงแม้จะมีพุทธภาวะในตน แต่ก็ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถช่วยตนเองได้ จึงต้องอาศัยการช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์จึงจะสามารถดำรงตนอยู่ได้และก้าวหน้าในธรรมขั้นสูงต่อ ๆ ไป
จากแนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้กล่าวได้ว่า แทบไม่มีข้อแตกต่างกันแต่อย่างใดระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระโพธิสัตว์ เพราะแต่เดิมนั้นการรื้อขนสรรพสัตว์ออกจากวัฏฏสงสารเป็นพุทธกิจโดยเฉพาะ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อทำภารกิจนี้ แต่มหายานได้มอบภารกิจนี้ให้เป็นของพระโพธิสัตว์แทน ฉะนั้น จึงเท่ากับว่า พระโพธิสัตว์มีฐานะไม่แตกต่างไปจากฐานะของพระพุทธเจ้า




การตั้งโพธิจิต : หัวใจของอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
“บุคคลตั้งมูลปณิธิปรารถนาพุทธภูมิ บุคคลนั้นชื่อว่ามีโพธิจิต” (เสถียร โพธินันทะ, 2518 : 112) หลักโพธิจิตในมหายานจึงมีความหมายพิเศษในการดำรงตนท่ามกลางผู้อื่น แม้เป้าหมายสุดท้ายของผู้ตั้งปณิธานคือพระโพธิญาณซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวของพระโพธิสัตว์ แต่ปณิธานเช่นนั้นมีแรงบันดาลใจจากการต้องการช่วยเหลือผู้อื่น สาระสำคัญของหลักโพธิจิตจึงมี 2 อย่างคือ ตนเอง (พระโพธิญาณ) และผู้อื่น (กรุณา) ผู้มี 2 สิ่งนี้ในตนชื่อว่าพระโพธิสัตว์ ดังที่คัมภีร์ โพธิจรรยาวตาร กล่าวว่า
พระพุทธเจ้าในอดีต (ก่อนตรัสรู้) ตั้งโพธิจิตเป็นพระโพธิสัตว์ และปฏิบัติตามจรรยาของพระโพธิสัตว์อย่างซื่อสัตย์ฉันใด ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ได้ตั้งโพธิจิตเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลก และปฏิบัติโพธิจรรยาวตารนี้ อย่างไม่ให้บกพร่อง (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : III. 22-23)

ผู้ที่ตั้งโพธิจิตแล้วย่อมมองเห็นว่า หลักโพธิจิตคือช่องทางช่วยเหลือสัตว์โลกผู้ทุกข์เข็ญ ปลดเปลื้องโลกที่เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ เป็นที่พักร้อนของสัตว์ผู้เหน็ดเหนื่อยจากการท่องเที่ยวอันยาวนานในสังสารวัฏและเป็นสะพานข้ามไปยังอีกฝั่งที่ปลอดภัย ดังข้อความในโพธิจรรยาวตารว่า “โพธิจิตนี้คือ สะพานสำหรับผู้ต้องการข้ามให้พ้นโอฆสงสาร” (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : III. 30)
อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวถึงความตั้งใจอันแน่วแน่หรือปณิธานของพระโพธิสัตว์ว่า
จะยึดถือว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเสมือนหนึ่งบิดามารดาหรือบุตรของตน หรือเป็นเสมือนหนึ่งตนเองว่า “เราปรารถนาจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ในสังสารวัฏฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ปรารถนาเช่นนั้นเช่นเดียวกับเรา ..... เราจะไม่ตัดช่องน้อยเอาตัวรอดไปเสียจากสัตว์ทั้งหลาย เราจักต้องช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากกองทุกข์ จะไม่รังเกียจเดียดฉันท์พวกเขา แม้ว่าจะถูกหั่นร่างกายออกเป็นร้อยท่อนพันท่อนก็ตาม” (AŒšas±hasrik± – Prajñ±parmit±, 1958 : 93-94)

ลลิตวิสตฺร กล่าวไว้เช่นกันถึงการหวนระลึกถึงปณิธานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตั้งไว้ในอดีตชาติว่า
เราจะบรรลุถึงพระโพธิญาณ ที่ไม่ตาย ไม่เก่าแก่ชราภาพ และปลอดจากความทุกข์ และจะช่วยให้สัตว์โลกพ้นจากความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับเรา (Latita-Vistara, 1958 : 112)

อย่างไรก็ดี พระสูตรที่พรรณนาถึงปณิธานของพระโพธิสัตว์ได้อย่างจับใจยิ่งคือ สุขาวดีวยูหสูตร ในพระสูตรนี้ พระธรรมกรโพธิสัตว์ได้ตั้งความปรารถนาว่า จะไม่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจนกว่าจะรื้อขนสรรพสัตว์ทั้งหมดให้พ้นจากความทุกข์เสียก่อน (Larger Sukhavativyuha Sutra, 2000 : 8)
กล่าวโดยสรุป จากแนวคิดเรื่องโพธิจิตของมหายาน ความหลุดพ้นส่วนตนและความกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์ได้มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้ง 2 ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ต่างเป็นคุณลักษณะของกันและกัน กล่าวได้ว่า ในทัศนะของมหายาน ความหลุดพ้นส่วนตัวไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นได้อย่างเต็มปาก พระโพธิสัตว์อาจฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่กระนั้นยังไม่เพียงพอ พระโพธิสัตว์จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการช่วยเหลือผู้อื่นก่อน

อุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นจริยธรรมเชิงบวก
จากหลัก “โพธิจิต” ของมหายาน แสดงว่า “ปัญญา”(ปรัชญา) และ “กรุณา” จะเป็นคุณสมบัติควบคู่กันเสมอของพระโพธิสัตว์ ดังที่ ซูซูกิ กล่าวว่า
สิ่งที่ทำให้มหายานยืนบน 2 ขาได้อย่างมั่นคงคือ “ปรัชญา” และ “กรุณา” หรือความรู้ที่มุ่งสู่โลกุตตรภาพ และความรักที่มีต่อสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต (Suzuki, 1973 : 292)

การตรัสรู้ (ปัญญา) ย่อมหมายถึงต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา) คู่กัน พระโพธิสัตว์จึงเป็นบุคคลอุดมคติที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง หากประสงค์จะหลุดพ้นจากทุกข์ การเน้นความกรุณา นับเป็นมิติใหม่ของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น เป็นการสอนว่าชาวพุทธไม่ควรมุ่งแต่ความหลุดพ้นส่วนตัว แต่ต้องอุทิศตนเองเพื่อผู้อื่นด้วย คำสอนเช่นนี้ทำให้เกิดจิตสำนึกและค่านิยมใหม่ว่า การหลุดพ้นเฉพาะตัวไม่มีประโยชน์อะไรหากไม่ช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นตาม ที่จริงเถรวาทก็ใช่ว่าจะสอนให้คนเห็นแก่ตัว เพียงแต่ว่าการจะช่วยเหลือผู้อื่นได้นั้น คน ๆ นั้นต้องช่วยเหลือตนเองได้ก่อน เช่นเดียวกับการสอนคนให้ว่ายน้ำ ผู้สอนต้องว่ายน้ำเป็นก่อน จึงจะสอนผู้อื่นได้ ดังพระพุทธพจน์ในคาถาพระธรรมบท ดังนี้
บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตพึงไม่เศร้าหมอง (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา, เล่มที่ 25, 2530 : 52)

สำหรับมหายานแล้ว แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ แสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือผู้อื่นต้องมาอันดับแรกจนถึงกับกล่าวว่า พระโพธิสัตว์แม้จะต้องรับทุกข์ รับโทษทัณฑ์หรือกระทั่งยอมตกนรกเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ก็ต้องทำ
การเน้นจริยธรรมเชิงบวกเช่นนี้ เป็นลักษณะเด่นของมหายาน แนวคิดนี้มาจากโลกทัศน์ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่าง “จิต” กับ “วัตถุ” ของมหายาน แตกต่างจากเถรวาท เถรวาทได้แยก 2 สิ่งนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะเห็นว่าวัตถุเป็นสาเหตุแห่งความเศร้าหมองของจิต เมื่อจิตถูกครอบงำด้วยวัตถุย่อมเป็นที่แน่ใจได้ว่า คน ๆ นั้นย่อมไม่ก้าวหน้าในจริยธรรม แต่ละคนต้องควบคุมจิตใจของตนไม่ให้มีอุปาทานติดยึดในวัตถุให้มากที่สุด ฉะนั้น จริยธรรมของเถรวาทจึงเป็นแบบปฏิเสธ เช่น ไม่พูดปด ไม่ลักทรัพย์ ไม่มอง ไม่ฟัง และไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจของตัณหา เป็นต้น แต่มหายานเห็นว่า วัตถุมาจากจิต โลกเป็นผลิตผลของจิต อกุศลกรรมหรือการกระทำที่เป็นอกุศลก็ย่อมมาจากจิตเช่นกัน จริยธรรมเชิงลบแบบเถรวาทไม่เพียงพอสำหรับถอนรากอกุศลจิต แต่ต้องเผชิญกับโลกหรือวัตถุอย่างซึ่ง ๆ หน้า จึงจะสามารถกำจัดความทุกข์ในสังสารวัฏได้ มหายานเชื่อใน “ตถาคตครรภ์” หรือพุทธภาวะว่าเป็นธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่เนื่องจากถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส จึงหลงผิดไม่เข้าใจในพุทธภาวะนี้ เมื่อตระหนักในพุทธภาวะและทำลายสังสารวัฏเสียได้ ภาวะนิพพานจึงบังเกิดขึ้น นิพพานกับสังสารวัฏจึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนกล่าวได้ว่านิพพานพบได้ในสังสารวัฏนั่นเอง สมดังที่ นาคารชุนกล่าวไว้ในมูลมาธยามการิกา ของท่านดังนี้
สังสารวัฏไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากนิพพาน และนิพพานก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากสังสารวัฏ (M³lamadhyamak±rik±, 1999 : XXV.19)

ฉะนั้น หากนิพพานคือความว่างเปล่า (non-emptiness) สังสารวัฏก็คือความเต็ม (emptiness) ความว่างเปล่าจะมีได้ก็เพราะมีความเต็มก่อน หากไม่มีความเต็มก่อน ภาวะว่างเปล่าจะมีได้อย่างไร ความว่างเปล่าและความเต็มจึงอยู่ด้วยกัน เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน มหายานเชื่อว่า อาศัยจริยธรรมเชิงบวกเช่นนี้ จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง จนสามารถต่อกรกับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บารมี 6 : จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติการของพระโพธิสัตว์
การบำเพ็ญบารมีเป็นหลักจริยศาสตร์ของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งพระโพธิญาณ บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด 6 บารมีธรรม คือ ทานบารมี ศีลบารมี กษานติบารมี วิริยบารมี สมาธิบารมี และปัญญาบารมี ดังที่ ลังกาวตารสูตร กล่าวว่า “ความเป็นพระพุทธเจ้าจะบรรลุได้ก็ด้วยการบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ให้บริบูรณ์” (Lank±vat±r Sutra, 1956 : LXXXVII, 237) อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวว่า บารมี 6 เหล่านี้ เป็นกัลยาณมิตรของพระโพธิสัตว์ เป็นครู เป็นทางเดิน เป็นแสงสว่าง เป็นคบเพลิง เป็นดวงประทีป เป็นที่พักพิง เป็นที่พึ่งพา เป็นที่พักผ่อน เป็นสิ่งบรรเทาทุกข์ เป็นเกาะ เป็นมารดา เป็นบิดา และช่วยให้พระโพธิสัตว์ได้เข้าใจตามเป็นจริง จนได้ตรัสรู้ในที่สุด (AŒšas±hasrik± – Prajñ±p±rmit±, 1958 : 216)
พระสูตรมหายานแทบทั้งหมด ต่างพรรณนาถึงความสำคัญของบารมีเหล่านี้ และภายหลังได้เพิ่มเข้ามาอีก 4 บารมีคือ อุปายบารมี ปณิธานบารมี พลบารมี และญาณบารมี และเมื่อรวมกับของเดิมจะมีบารมีธรรม 10 บารมีด้วยกัน บารมีเหล่านี้ต่างสนับสนุนกันและกัน แต่ละข้อมีความสัมพันธ์กันและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของชีวิต

บารมี 6 ของพระโพธิสัตว์ มีดังนี้
1. ทานบารมี พระพุทธศาสนาเน้นคุณธรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น เมตตา กรุณา และทานเป็นพิเศษ จนเห็นว่าแตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ในอินเดียยุคเดียวกัน การให้หรือทานในที่นี้จึงมีนัยที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 2 ประการคือ 1) เพื่อสลัดความเห็นแก่ตัว สร้างความอ่อนโยนให้กับจิตใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป และ 2) แสดงว่าในสังคมมีคนยากจนที่ควรแก่การได้รับความช่วยเหลือ และมีผู้ที่ทำประโยชน์แก่สังคม เช่น นักบวช บุคคลเช่นนี้ไม่มีอาชีพ หากได้รับการอุปถัมภ์แล้ว จะทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เมื่อมหายานอุบัติขึ้นมา ได้รับเอาทานบารมีที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมาเป็นบารมีธรรมข้อหนึ่งของพระโพธิสัตว์ด้วย พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีข้อนี้จะมีสภาพจิตใจกว้างขวาง เผื่อแผ่ไปยังผู้ขัดสนและตกทุกข์ได้ยากทั้งมวล ดังที่คัมภีร์โพธิจรรยาวตารกล่าวว่า
พระโพธิสัตว์ปรารถนาที่จะเป็นยาและเป็นแพทย์รักษาผู้เจ็บป่วยให้หายป่วย ปรารถนาที่จะเป็นอาหารและน้ำให้ผู้อดอยากหิวโหยได้ดื่มกิน ทั้งในยามปกติและเมื่อคราวประสบทุพภิกขภัย ปรารถนาเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีวันหมดสำหรับคนขัดสนสิ้นเนื้อประดาตัว และเป็นแหล่งบรรเทาทุกข์อื่น ๆ สำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือ (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : III. 7-9)

นอกจากการให้วัตถุสิ่งของแล้ว แม้ผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำลงไปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และก็อนาคต พระโพธิสัตว์ก็ยินดีสละให้ หากจะช่วยให้ผู้รับพ้นจากความทุกข์ ซึ่งนับว่าแตกต่างพระพุทธศาสนายุคแรกที่สอนว่า ทุกคนต่างมีกรรมเป็นของตน ไม่สามารถจะโอนถ่ายไปยังผู้อื่นได้ แต่เป็นเพราะรักในพระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์จึงยอมเสียสละทุกอย่างแม้กระทั่งผลกรรมดีของตนให้ผู้อื่น อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับเถรวาท มหายานถือว่าทานที่ล้ำเลิศยิ่งกว่าทานทั้งปวงคือ ธรรมทานดังพระสูตรที่แปลเป็นภาษาจีนกล่าวไว้ดังนี้
อุบายที่ต่ำ (อนุปาย) คืออะไร พระโพธิสัตว์ขณะที่บำเพ็ญทานบารมี ให้การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยวัตถุสิ่งของอย่างเดียว แต่ไม่เคยยกพวกเขาจากความชั่วให้เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม นี้คืออุบายที่ต่ำ
ทำไม? เพราะการช่วยเหลือด้วยวัตถุยังไม่นับว่าเป็นการช่วยเหลือจริง ๆ มูลสัตว์ไม่ว่ากองใหญ่หรือเล็ก อย่างไรเสียก็ย่อมส่งกลิ่นเหม็นอยู่วันยังค่ำ นัยเดียวกัน เหล่าสัตว์ล้วนประสบความทุกข์จากรรมและพื้นเพอุปนิสัยของตน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พวกเขามีความสุขด้วยการป้อนวัตถุให้อย่างเดียว วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยเหลือพวกเขาคือการให้ธรรม (อ้างใน Lubac, 1953 : 24)

กล่าวโดยสรุป แนวคิดเรื่องทานบารมีเป็นของพระพุทธศาสนายุคแรก เพียงแต่มหายานได้นำมาเน้นเป็นพิเศษ

2. ศีลบารมี ศีลหมายถึงปกติหรือการประพฤติที่อยู่ในครรลองคลองธรรม ในพระไตรปิฎกของเถรวาทมักมาร่วมกับสมาธิและปัญญาที่เป็นหลักไตรสิกขา พระพุทธโฆสาจารย์แบ่งศีลออกเป็น 2 ประการคือ วารีตศีล ได้แก่ข้อห้าม และจารีตศีล ได้แก่ ข้ออนุญาต (วิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 1 ; 2536 : 22) วัตถุประสงค์ของศีล คือ การรักษาตนเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น (æikŒ±samuccaya, 1960 : 23) ด้วยอำนาจของศีล กิเลสอย่างหยาบจะอยู่ภายใต้การควบคุม อย่างน้อยก็ชั่วคราว ส่วนประเภทของศีลมีแตกต่างกันไปตามภูมิของผู้ปฏิบัติ เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 วินัย 227 ข้อ สำหรับพระภิกษุ และ 250 ข้อ สำหรับภิกษุณี ศีลเหล่านี้ปรากฏในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนายุคแรก สำหรับมหายานได้แก้ไขดัดแปลงไปบ้าง และขณะที่ยังคงสาระสำคัญเดิมไว้ พระโพธิสัตว์อาจละเมิดศีลได้ หากพิจารราแล้วว่าจะเป็นการแสดงความเมตตาและความกรุณาต่อผู้อื่น (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : V. 84) โพธิสัตวภูมิได้แสดงว่า เหตุการณ์ใดบ้างที่พระโพธิสัตว์อาจละเมิดศีลได้ แต่ทุกสถานการณ์จะต้องเกี่ยวข้องกับความเมตตาและความกรุณา ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นทั้งสิ้น ฉะนั้น พระโพธิสัตว์อาจปลิดชีวิตทุรชนที่กำลังจะก่อกรรมทำเข็ญ ฆ่าพระอรหันตสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ โดยตั้งเจตนาดังนี้ว่า ผลจากการกระทำนี้ แม้จะทำให้ต้องตกนรกหมกไหม้ก็ไม่เป็นไร เพราะจะทำให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือสัตว์นรกต่อไป พระโพธิสัตว์อาจยึดทรัพย์สมบัติที่ได้มาโดยทุจริตของพระราชา เสนาบดี และของอาชญากรที่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ประชาชนแล้วนำมาอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา อาจมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวเพื่อหันเหหล่อนจากการกระทำอันชั่วร้าย อาจพูดคำหยาบเพื่อตักเตือนและป้องกันไม่ให้คนชั่วประพฤติบาปอกุศล อาจพูดเท็จเมื่อจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้อื่น อาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมบันเทิงทางโลกเพื่อผ่อนคลายทุกข์โศกของมหาชน และกิจกรรมอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน (Asangap±da’s Yog±c±rabh³mi, 1966 : 112-116) ข้อผ่อนคลายในศีลเหล่านี้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตของนักปราชญ์พระพุทธศาสนาสมัยต่อมาว่า จะไม่มีหลักจริยธรรมสากลที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และเป็นที่มาของความประพฤติย่อหย่อนของบรรพชิตมหายานบางกลุ่มในนามของ “ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการแบบพุทธตันตรยานในสมัยต่อไป

3. กษานติบารมี บารมีธรรมข้อที่ 3 คือ กษานติบารมี กษานติ แปลว่า อดทน เป็นธรรมที่เป็นข้าศึกต่อโทสะและความพยาบาท พระธรรมบทขุททกนิกาย กล่าวว่า “ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่งยวด” (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา, เล่มที่ 25, 2530 : 58) ศึกษาสมุจจัย แบ่งความอดทนออกเป็น 3 ชนิดคือ 1) อดทนต่อความทุกข์ 2) อดทนต่อคำสอน และ 3) อดทนต่อความเจ็บปวดและการดูถูกเหยียดหยาม (æikŒ±samuccaya, 1960 : 100) ความทุกข์มีอยู่ในสังสารวัฏ ควรที่ทุกคนจะเผชิญหน้ากับมันด้วยความกล้าหาญ นอกจากนั้น ความทุกข์ยังช่วยให้เจริญก้าวหน้าในธรรมหลายประการ เช่น ทำให้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ทำให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น และเพิ่มพูนศรัทธาในพระพุทธเจ้า เป็นต้น อนัตตา เป็นคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับสามัญชนที่มีปกติยึดถือในตัวตนแล้วยากที่จะเข้าใจได้ จะต้องอาศัยการศึกษาอบรมและพอกพูนเพาะบ่มอุปนิสัยด้วยความอดทนจึงจะเข้าใจได้ ส่วนความอดทนข้อที่สามหมายถึงความอดกลั้นต่อคำด่าว่า และการทำร้ายทุบตีของผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธตอบและพร้อมที่จะให้อภัย เป็นการแสดงความรักและความเมตตาตอบแทน ทั้งนี้เพราะพิจารณาเห็นว่า ผู้ที่กำลังด่าว่าทำร้ายตนนั้น ในอดีตชาติ อาจเป็นมิตรสหาย ญาติพี่น้องหรือครูอาจารย์กันมาก่อน จริง ๆ แล้ว ไม่มีผู้ด่าและผู้ถูกด่า ทุกอย่างสักว่าแต่เป็นธาตุ จึงไม่มีประโยชน์อะไรจะต้องโกรธ เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เพราะต่างร่วมชะตากรรมเดียวกันทั้งหมด

4. วิริยบารมี วิริยะ คือความขยันและกล้าหาญ คำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากจะเป็น “กรรมวาที” แล้ว ยังเป็น “วิริยวาที” อีกด้วย ซึ่งหมายความว่า การจะบรรลุจุดหมายสูงสุดทางศาสนานั้น ต้องอาศัยความเพียรพยายาม ไม่ใช่อาศัยความเกียจคร้าน วิริยะหรือความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ จึงจำเป็นต่อการบรรลุพระโพธิญาณ นอกจากจะมั่นคงไม่เบื่อหน่ายในเป้าหมายแล้ว ผู้บำเพ็ญวิริยบารมีจะต้องเพียรป้องกันตนเองจากบาปอกุศลต่าง ๆ ด้วย จะหักห้ามใจตนเองจากความเพลิดเพลินในกาม เพราะกามสุข เป็นเสมือนหนึ่งคมมีดอาบน้ำผึ้ง ที่พร้อมจะบาดผู้ที่หลงระเริงดื่มกินได้ทุกเมื่อ พระโพธิสัตว์จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบเสมอ แต่เมื่อได้ตัดสินใจกระทำสิ่งใดแล้ว จะทำด้วยความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : VII. 47)

5. สมาธิบารมี หลังจากบำเพ็ญวิริยบารมีจนเต็มกำลังแล้ว พระโพธิสัตว์ควรทำใจให้สงบ การสั่งสมบารมีของพระโพธิสัตว์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่ความสงบภายในตน ไม่ว่าจะเป็นกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก พระโพธิสัตว์ต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์เช่นกัน เพราะความสุขสงบภายในตน ย่อมทำให้เข้าใจธรรม เอาชนะกิเลสในใจตนและมองเห็นความเท่าเทียมกันระหว่างตนกับผู้อื่น ช่องทางการทำใจให้สงบมี 2 ประการคือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา อารมณ์ของทั้ง 2 ภาวนา จะทำให้เกิดดวงปัญญา และคลายความลุ่มหลงมัวเมาในกามและสมบัติทางโลกทั้งมวล

6. ปัญญาบารมี ปัญญาคือความเห็นแจ้งในกุศลและอกุศล ซึ่งถือว่าเป็นบูรณาการขั้นสุดท้ายของทุกบารมีดังกล่าวมาแล้ว “พระตถาคตเจ้าทรงตรัสรู้และทรงได้รับพระสมยานามเช่นนั้นก็ด้วยพระปัญญาบารมี” (AŒµas±hasrik± – Prajñ±p±rmi±, 1958 : 104) จะเห็นว่าปัญญาบารมีที่เต็มเปี่ยมยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวว่า
มารและเสนามารจะไม่สามารถทำร้ายผู้บำเพ็ญปัญญาบารมีได้เลย... ผู้บำเพ็ญปัญญาบารมีเป็นผู้องอาจแกล้วกล้าท่ามกลางบริษัท 4 ไม่มีอาการประหวั่นพรั่นพรึงต่อคำถามของผู้ประสงค์ร้าย... เป็นที่รักของมารดา บิดา มิตรสหาย ญาติพี่น้อง และสมณพราหมณ์ทั้งปวง... สามารถข่มเสียซึ่งคำถามและคำตอบของปรวาทีด้วยวิถีแห่งธรรมะ (AŒµas±hasrika – Prajñ±p±rmit±, 1958 : 109-110)

ความรู้ที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้ ได้แก่ อนัตตา กล่าวคือสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่ในสภาพศูนย์ ประเด็นที่น่าสนใจของบารมีธรรมทั้ง 6 สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1) ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกบารมีธรรม นี้คือเหตุผลว่าทำไมคำสอนของมหายานจึงให้ความสำคัญแก่สังคมเป็นอันดับแรก และทำให้ละเมิดศีลได้หากจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเข้มงวดแบบนักบวชของพระพุทธศาสนายุคแรกได้ผ่อนคลายลง แม้ว่าหลักกรุณาจะเป็นคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนายุคแรกเช่นกัน แต่ท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการคลุกคลีอันไม่สมควรกับคฤหัสถ์ ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการนำคำสอนนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เป็นอุดมการณ์ทางสังคม มหายานสามารถแก้ไขภาวะขัดแย้งนี้ด้วยการสอนเรื่องสังสารวัฏและนิพพานว่าเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ฉะนั้น นิพพานสามารถบรรลุได้ด้วยจริยธรรมเชิงบวก ซึ่งในที่นี้คือความกรุณาที่มีมิติทางสังคม
2) การเมตตาต่อผู้อื่นก็เช่นกัน ให้ผลดีต่อคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการขจัดความโกรธและความพยาบาทออกจากจิตใจ ช่วยบรรเทาความเครียด และมีชีวิตอย่างผาสุก ผลลัพธ์คือบุคลิกภาพอันสงบเยือกเย็นของผู้มีคุณธรรมข้อนี้ แต่มหายานได้ทำให้คุณธรรมข้อนี้มีลักษณะทางสังคม ด้วยหลักมหากรุณาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
3) อาศัยความกรุณาต่อผู้อื่นเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งว่าสามารถถ่ายโอนความดีของตนให้ผู้อื่นได้ ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธศาสนายุคแรก จริยธรรมดังกล่าวนี้ทำให้มหายานเป็นที่สะดุดใจของประชาชน โดยเฉพาะระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-12
4) มหายานยังคงวิถีชีวิตแบบบรรพชิตไว้ได้โดยเฉพาะ 2 บารมีธรรมข้อสุดท้ายจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นปัจเจก และตัดขาดจากกิจกรรมทางโลก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าขณะที่มหายานทำให้พระพุทธศาสนาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางนั้น มหายานยังคงอภิปรัชญาของพระพุทธศาสนาไว้ได้ ฉะนั้น หลักบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์จึงเป็นหลักเชื่อมวิถีชีวิตแบบฆราวาส และแบบบรรพชิตเข้าด้วยกัน และทำให้พระพุทธศาสนาไม่เป็นกิจกรรมของบรรพชิตแต่อย่างเดียว แต่เป็นของฆราวาสด้วย ตัวอย่างนี้สามารถหาดูได้จากมหายานใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวันในปัจจุบัน หรือในประเทศไทย เช่นกิจกรรมขององค์กรการกุศลของชาวไทยเชื้อสายจีน เช่นมูลนิธิร่วมกตัญญูและป่อเต็กตึ๊ง เป็นต้น



สรุป
อุดมการณ์พระโพธิสัตว์ : จริยศาสตร์เพื่อมหาชน เกิดจากการเน้นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่มหายานเห็นว่า จะสามารถเข้าถึงประชาชนได้สะดวก พร้อม ๆ กับผสมผสานกับความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ขณะที่คำสอนที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาจริง ๆ คือ ขันธ์ 5 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน ยังคงเดิม มหายานยุคแรก ๆ ยังคงตระหนักในข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ก่อนที่จะพัฒนาไปไกลจนกลายเป็นมหายานแบบพุทธตันตรยานในภายหลัง

0 comments:

Post a Comment